สุขศาลาพระราชทาน
เลขที่ 88/44 หมู่ 4 ซอยสาธารณสุข 8 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
อีเมล์ติดต่อ : suksalamail@gmail.com
งาน มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 1 ปี 2566
รมช.สธ. เปิดงาน “มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน” ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิคุณภาพแบบบูรณาการ เพื่อดูแล รักษาสุขภาพของคนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารเพื่อความเท่าเทียม เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมคุณภาพสุขศาลาพระราชทาน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรม สตาร์ คอนเวนชั่น จ. ระยอง
กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ การพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการ เฉลิมพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์” เป็นนโยบายสำคัญ จึงสนับสนุนและพัฒนา สุขศาลาพระราชทานให้เป็นสถานบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้พัฒนา ห้องพยาบาล ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้เป็น สุขศาลา ที่ให้การรักษาพยาบาลแก่นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ ห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่พิเศษด้านความมั่นคง เพื่อให้พสกนิกรชาวไทย และประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัจจุบันมี สุขศาลาพระราชทานจำนวน 26 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ สปป.ลาว เมียนมาร์ และมาเลเซีย อยู่ในความรับผิดชอบของ รร.ตชด. 23 แห่ง และ อบต. 3 แห่ง ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลทุกแห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สุขศาลาพระราชทานได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานแล้ว จำนวน 16 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะได้รับรองคุณภาพให้ครอบคลุมทั้ง 26 แห่งภายใน ปี 2567 เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ในแต่ละปี มีผู้รับบริการที่เป็นคนไทย ชาวต่างชาติ หรือบุคคลไร้รัฐ ประมาณ 25,000 – 30,000 ราย มีผู้ป่วยได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาต่อยัง รพ. ประมาณ 250 – 300 ราย ทั้งนี้สุขศาลาพระราชทานได้นำระบบ Telemedicine มาเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วย และการสื่อสารสุขภาพ
ในอนาคตนั้นภาคีเครือข่าย มีแนวทางการบริหารและขับเคลื่อนสุขศาลาพระราชทาน เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิคุณภาพ ดังนี้ 1) บริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม 2) ส่งเสริมและพัฒนาให้ได้รับ การรับรองคุณภาพ 3) พัฒนาศักยภาพบุคลากร และสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ 4) นำระบบ Telemedicineมาประยุกต์ใช้ 5) พัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สุขภาพของชุมชนและประยุกต์ใช้ ภูมิปัญญาพื้นถิ่นมาเสริมสร้างสุขภาพของชุมชน