สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

หน่วยงานร่วมสนองงานตามพระราชดำริ


เครือข่ายและบทบาทในการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน     

          เมื่อมีการจัดตั้งสุขศาลาขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ แม้จะดูว่าเป็นงานและบทบาททางด้านสาธารณสุข แต่การให้บริการของสุขศาลาพระราชทานนั้น มีปัจจัยที่มีความสำคัญและต้องการการสนับสนุนในหลายด้าน การดำเนินงานจึงขยายวงกว้างมากขึ้น มีหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาสุขศาลาพระราชทาน ทำให้การพัฒนาในด้านต่างๆ สามารถเดินทางไปถึงปลายทางแห่งความสำเร็จที่วาดไว้ ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น หน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทและเป็นเครือข่ายที่สำคัญ ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ดังนี้

2.1.1 หน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุข

           2.1.1.1 สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี      

          สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่านทุกโครงการ และหัวเรือใหญ่ในการเริ่มตั้งต้นโครงการพระราชดำริสุขศาลาพระราชทาน โดยเป็นแกนหลักในการกำหนดผู้เกี่ยวข้องในการจัดตั้งและพัฒนาสุขศาลาพระราชทานตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเครือข่ายการดำเนินงานและเกิดการทำงานแบบบูรณาการสร้างความร่วมมือกันระหว่างทุกหน่วยงาน โดยได้ถ่ายทอดพระราชดำริมาสื่อสารให้หน่วยงานน้อมนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าตามลำดับที่เหมาะสม

           บทบาทหน้าที่

          1. สนับสนุน ช่วยเหลือการแก้ไขปัญหา และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

          2. ร่วมกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทานฯ

          3. ติดตามและให้คำแนะนำในการดำเนินงานของสุขศาลาพระราชทาน

          4. สนับสนุนงบประมาณ เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานสุขศาลาพระราชทาน

           2.1.1.2 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          ตำรวจตระเวนชายแดนนับว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของสุขศาลาพระราชทาน เป็นหน่วยงานเริ่มต้นและเป็นผู้สนับสนุนสำคัญที่ทำให้เกิดโครงการสุขศาลาพระราชทานขึ้น เนื่องด้วยเป็นหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ที่มีภารกิจต้องดำเนินการในพื้นที่ตลอดและต่อเนื่อง ทั้งยังให้การสนับสนุนอาคารสถานที่ ทรัพยากรและผลิตบุคลากรครูพยาบาลเพื่อให้สุขศาลาพระราชทานสามารถให้บริการสาธารณสุขได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งในด้านการศึกษา ความมั่นคง และการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ จึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในพื้นที่

           บทบาทหน้าที่

          1. กำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทานฯ

          2. อำนวยการ สนับสนุน แก้ไขปัญหา และผลักดันการดำเนินงานในระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่

          3. ติดตาม ควบคุม กำกับ และประเมินผลการดำเนินงานในระดับนโยบาย

          4. ผลิตและพัฒนาศักยภาพครูพยาบาล

          5. ร่วมนิเทศงาน ติดตาม ควบคุม กำกับ และนิเทศงานงานดำเนินงานในพื้นที่

          6. จัดหาและบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการให้บริการ และบริหารงานในสุขศาลาพระราชทาน

          7. สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดจ้างและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน

           2.1.1.3 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

          การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาสนับสนุนระบบไฟฟ้าให้กับชุมชนที่ไม่ห่างไกล และการคมนาคมไม่ได้ลำบากนัก ซึ่งในบางพื้นที่มีชุมชนที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การขยายเขตไฟฟ้าหลายแห่งหรือพื้นที่นั้นมีโครงการพระราชดำริหรือโครงการหลวงตั้งอยู่ ทำให้การให้บริการของสุขศาลาพระราชทานได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบไฟฟ้าในส่วนนั้นไปด้วย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการติดตั้งเสาและสายส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ให้บริการ ซึ่งปัจจุบันสุขศาลาพระราชทานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถจ่ายไฟฟ้าและสามารถใช้ไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในพื้นที่อื่นๆ มีการเดินเสาและสายไฟฟ้าไว้เพื่อเตรียมการจ่ายกระแสไฟฟ้า เนื่องจากระยะทางและการคมนาคมมีความสะดวกมากขึ้น เช่น ในสุขศาลาพระราชทานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดน่าน

           บทบาทหน้าที่

          1. จัดหาพลังงานไฟฟ้าและสนับสนุนระบบสายส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนที่อยู่ในภูมิภาค

          2. ควบคุมดูแล ตรวจสอบ วิเคราะห์แก้ไขปัญหา และบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าให้มีคุณภาพ

          3. สำรวจ ออกแบบ ขยายเขตระบบไฟฟ้า ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

          2.1.1.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล)

          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะกับสุขศาลาพระราชทานในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นสุขศาลาพระราชทาน 2 แห่งแรกในประเทศ ที่อยู่นอกโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีรูปแบบการดำเนินงานโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่าย และชาวบ้านในชุมชน และใช้การบริหารจัดการของท้องถิ่น ทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และการให้บริการ โดยมีสาธารณสุขในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนระบบการให้บริการอย่างใกล้ชิด           

           บทบาทหน้าที่

          1. สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดจ้างเจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน การก่อสร้างอาคารสุขศาลาพระราชทาน การสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนาในด้านต่างๆ

          2. เป็นเครือข่ายร่วมพัฒนา บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาการให้บริการของสุขศาลาพระราชทานที่อยู่ในความรับผิดชอบในพื้นที่

          3. ร่วมกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทาน

          2.1.1.5 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

         ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของการจัดหาและผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผ่นรับแสงอาทิตย์โซล่าเซลล์ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในการให้บริการของสุขศาลาพระราชทานรวมทั้งการดำเนินกิจการภายในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เนื่องจากสุขศาลาหลายแห่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ป่าเขา การสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับมีระยะทางไกล จึงทำให้ไม่สามารถเดินระบบไฟฟ้าผ่านเสาไฟฟ้าเหมือนแบบปกติทั่วไปได้ จึงทำให้ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยก่อนหน้าที่จะมีโครงการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์เข้ามาก็มีการใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าหรือไฟสำรองจากแบตเตอรี่ แต่ส่วนใหญ่สุขศาลาพระราชทานจะไม่ค่อยได้ให้บริการในเวลากลางคืนมากนัก นอกเสียจากมีเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นต้องทำการรักษาปฐมพยาบาลโดยเร่งด่วน

           บทบาทหน้าที่

          1. สนับสนุน พัฒนา จัดหาพลังงานไฟฟ้า ที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการใช้งาน

          2. สนับสนุน พัฒนาระบบการบำรุงรักษา และการทดแทนด้านระบบพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

          3. ให้คำปรึกษา องค์ความรู้และอบรมด้านการใช้งานและการดูแลบำรุงรักษาระบบพลังงานไฟฟ้า

          4. ร่วมกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทาน

           2.1.1.6 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

          เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจการสุขศาลาพระราชทานรวมทั้งกิจการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เนื่องจากปัญหาในการติดต่อสื่อสารของระบบโทรคมนาคมในสุขศาลาพระราชทานในการประสานงาน ส่งต่อผู้ป่วยหรือการปรึกษาในการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัดที่เป็นแม่ข่ายเป็นไปด้วยความลำบาก และระบบวิทยุสื่อสารที่มีและติดตั้งใช้งานอยู่ก่อนหน้านั้น ไม่สามารถใช้งานติดต่อประสานงานได้ทุกที่อย่างต่อเนื่องพร้อมกัน เพราะส่วนมากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแต่ละแห่งจะตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรืออยู่บริเวณริมตะเข็บชายแดนที่ไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆเข้าถึง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียม IP-Star (KU-Band), อุปกรณ์แพร่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Wireless Access Point) และโทรศัพท์ จำนวน 1 เลขหมาย เพื่อช่วยให้การติดต่อสื่อสารและประสานงานที่ดีขึ้น และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งที่สำคัญ เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยในพื้นที่ห่างไกลในด้านสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารตามกรอบยุทธศาสตร์ขององค์กรในการให้บริการโทรคมนาคมเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล Digital Economyนอกจากการพัฒนาระบบการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและดาวเทียวแล้ว ยังได้สนับสนุนและติดตั้งระบบเทคโนโลยีและเครือข่ายการสื่อสารด้วยระบบWeb Conference เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้พัฒนาระบบและโปรแกรมการสื่อสารทางไกลผ่านภาพและเสียง (Telemedicine) ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการให้คำปรึกษาและรักษาพยาบาลกับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมกับโครงการสุขศาลาพระราชทาน และมีแต่ครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทานที่ผ่านการอบรมการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และอาสาสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ให้ข้อมูลอาการของผู้ป่วยแก่แพทย์ที่อยู่ปลายทาง ซึ่งสามารถซักถามดูอาการของผู้ป่วยได้จากจอคอมพิวเตอร์ และให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่หากประเมินอาการแล้วผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน จะดำเนินการประสานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อนำส่งโรงพยาบาลทางเฮลิคอปเตอร์หรือทางรถยนต์ หรือทางเรือต่อไป

           บทบาทหน้าที่

           1. ติดตั้งระบบสื่อสาร จานดาวเทียม Ipstar และอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 2/1 Mbps พร้อมโทรศัพท์ประจำที่ 1 เลขหมาย อุปกรณ์ Wireless Access Point เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมไมโครโฟน ลำโพง และกล้อง Web Conference ที่มีความคมชัดแบบ HD โดยติดตั้งระบบทั้งหมดให้ใช้งานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ Web Conference ผ่าน MCU เพื่อใช้งาน Tele-medicine
           2. สนับสนุน จัดหา และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเครือข่ายการสื่อสารที่เหมาะสม
           3. ติดตั้งโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ระยะไกล (Team Viewer) และโปรแกรม Anti-Virus เพื่อช่วยแก้ไขเหตุเสีย และลดระยะเวลาในการแก้ไขเหตุเสียของระบบและอุปกรณ์
           4. จัดหาและติดตั้งระบบโทรมาตรการกำลัง (Power Monitoring) เพื่อตรวจเช็คระบบไฟฟ้า Solar cell โดยรับ-ส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่มีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า)
           5. ติดตั้งระบบ Application การใช้งานระบบการให้คำปรึกษาและรักษาทางการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) และใช้งานบน TOT MCU (Multi Conference Unit) ผ่าน Tablet/ Smart Phone ให้แก่คณะแพทย์ที่ปรึกษาในโครงการสุขศาลาพระราชทาน
           6. สนับสนุนวิทยากรในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ แก่ คุณครู ตชด. เจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน
           7. เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

           8. ร่วมกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทาน

           9. ประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมในโครงการ

            2.1.1.7 คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรไทย รุ่นที่ 46

           เป็นคณะบุคลากรที่มีศักยภาพสูงระดับประเทศทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหลายท่านเกษียณอายุราชการในตำแหน่งระดับสูง ได้รวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะนำศักยภาพของแต่ละคนมาทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง โดยมีการหารือจนมาตกผลึกที่งาน “สุขศาลาพระราชทาน” โดยเล็งเห็นว่างานสุขศาลาพระราชทานคือ “การบูรณาการ” เพราะเนื่องจากงานดังกล่าวมีอย่างน้อย ๒ หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดคือ ตำรวจตะเวนชายแดน และกระทรวงสาธารณสุข แน่นอนว่าภารกิจหลักของแต่ละส่วนที่รับผิดชอบมีความแตกต่างกัน งานสุขภาพจะเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการบริหารงานในสุขศาลาพระราชทานจะอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหลัก ทำให้ผู้ปฏิบัติงานบางครั้งเกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน หลายพื้นที่การสาธารณสุขยังเข้าถึงลำบากจึงต้องฝากงานสาธารณสุขบางอย่างไว้กับครูตำรวจตระเวนชายแดนด้วย ลำพังการสอนหนังสือและดูแลเด็กนักเรียนก็เยอะมากแล้ว ครูตำรวจตระเวนชายแดนยังต้องรับผิดชอบงานสุขภาพเพิ่มขึ้นอีก คณะนักศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรไทย รุ่นที่ 46 เข้ามาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และเป็นแกนกลางในการประสานงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ให้การทำงานเกิดความสะดวกคล่องตัว มีความชัดเจนและต่อเนื่อง โดยที่ชาวบ้านในชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด และช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพของสุขศาลาพระราชทานให้มีความพร้อมสำหรับการทำงาน เช่น ยารักษาโรค ระบบไฟฟ้า ระบบประปา การขอสนับสนุนการบริจาคสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ การสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ งบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่างๆ การซ่อมแซมและก่อสร้างอาคาร และประสานกับ ทีโอที ติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการถ่ายทอดสดภาพและเสียงของการรักษาผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่รับผิดชอบ ทำให้หมอได้เห็นอาการและแนะนำการรักษาได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดน และกระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกฝ่ายรับทราบปัญหาและเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกัน และเมื่อใดที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงพื้นที่ดูแลการบริการของสุขศาลาพระราชทานและชุมชนได้ดี คณะนักศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรไทย รุ่นที่ 46 ก็จะลดบทบาทของตนลงเพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสุขภาพและความมั่นคงของชุมชนและประเทศชาติต่อไป

บทบาทหน้าที่

           1. เป็นแกนกลางในการประสานงาน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

           2. สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพของสุขศาลาพระราชทานให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการ

           3. จัดการและสนับสนุนการบริจาคสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ ยา เวชภัณฑ์ งบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่างๆ

2.1.2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

           2.1.2.1 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

          กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้รับมอบจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหน่วยงานหลักด้านสาธารณสุขในการจัดตั้งและพัฒนาสุขศาลาพระราชทานรวมกับหน่วยงานเครือข่ายอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านระบบบริการของสุขศาลาพระราชทาน ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่จะทำให้การให้บริการสามารถดำเนินไปได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ป่วย โดยมีหน่วยงานระดับเขตเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานงานร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ และส่วนกลางกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์และนโยบายในการดำเนินงาน

รวมทั้งสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานเครือข่ายต่างๆ

1. ร่วมกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทาน

2. บูรณาการการบริหารจัดการสุขศาลาพระราชทานฯ ทุกระดับ

            3. บูรณาการระบบการให้บริการสาธารณสุขในสุขศาลาพระราชทานตามเกณฑ์คุณภาพการให้บริการสาธารณสุขในสุขศาลาพระราชทานฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

            4. พัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขศาลาพระราชทานฯ และเครือข่าย

            5. พัฒนาศูนย์การเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพของสุขศาลาพระราชทานฯ

            6. ประสานความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานสุขศาลาพระราชทานฯ

7. พัฒนาและบริหารจัดการความรู้และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สุขศาลาพระราชทาน

8. สนับสนุนองค์ความรู้ วิชาการ และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่

            9. ควบคุม กำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานสุขศาลาพระราชทาน

            2.1.1.2.2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

           สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่สังกัดมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริทุกโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับผิดชอบ รวมทั้งโครงการสุขศาลาพระราชทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกว่า 30 โครงการ เนื่องจากมีหน่วยงานและบุคลากรที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่มีสุขศาลาพระราชทานตั้งอยู่ตั้งแต่ระดับ เขต จังหวัด อำเภอ ตำบล ทำให้การดำเนินงานเกิดผลในการปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง สามารถติดตามและเก็บข้อมูลการดำเนินงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับดังนี้

1 สำนักโครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ และกิจกรรมพิเศษ

2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ

4 โรงพยาบาล (ชุมชน/ทั่วไป/ศูนย์)

5 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

            บทบาทหน้าที่

           1. สนับสนุนทรัพยากร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรประจำสุขศาลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้เพียงพอ และเหมาะสมต่อการให้บริการด้านสุขภาพ และการส่งต่อ

2. สนับสนุนองค์ความรู้ วิชาการ สื่อ คู่มือ

3. เป็นพี่เลี้ยงแก่บุคลากรสุขศาลาพระราชทานฯ ด้านการบริหารจัดการระบบบริการ

4. พัฒนาระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลและประสานการให้บริการสุขภาพกับระบบการให้บริการของ รพ.สต./รพ./สสอ./สสจ.

5. ร่วมวางแผนและติดตามการดำเนินงานสุขศาลาพระราชทานฯ ในพื้นที่

6. พัฒนาศักยภาพในการให้บริการของบุคลากรประจำสุขศาลาพระราชทาน