สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ (บ้านผาแดง)


ประวัติโรงเรียน

         โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศเดิมชื่อ รร.ตชด.บ้านผาแดง ได้รับโอนมาจากศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงบ้านผาแดง สังกัดศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน และอาคารประกอบเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกใน ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2550 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 มีนักเรียน 82 คน

         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเงินก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 1 หลัง ขนาด 4 ห้องเรียน บ้านพักครู ห้องน้ำ – ห้องส้วมนักเรียน เสาธง รวมเป็นเงิน 286,779.50 บาท

         เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียนเพื่อติดตามงานโครงการตามพระราชดำริ และทรงเปิดป้าย รร.ตชด.ท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ เป็นครั้งที่ 1

 

วิสัยทัศน์ของโรงเรียน

               ให้บริการทางการศึกษาพัฒนาชีวิตพื้นฐาน สร้างงานอาชีพใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาสิ่งแวดล้อม

 

เขตบริการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ

               โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศมีเขตบริการ 4 หมู่บ้าน ได้แก่

         1. บ้านผาแดงใหม่ ม.12 ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงโรงเรียน 100 เมตร ประชากร 33 หลังคาเรือน รวม 207 คน

         2. บ้านคะเนจือคี ม.10 ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงโรงเรียน 5 กิโลเมตร ประชากร 38 หลังคาเรือน รวม 138 คน

         3. บ้านผาแดงเก่า ม.12 ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงโรงเรียน 4 กิโลเมตร ประชากร 14 หลังคาเรือน รวม 64 คน

         4. บ้านห้วยน้ำผึ้ง ม.12 ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงโรงเรียน 7 กิโลเมตร ประชากร 41 หลังคาเรือน รวม 110 คน

 

สภาพชุมชน

         ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ลาดเอียง ตั้งอยู่บนไหล่เขา มีประชากร จำนวน 126 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 519 คน ประชากรเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอร์

 

จำนวนครูและนักเรียน

         เปิดทำการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 100 คน เป็นชาย 62 คน หญิง 38 คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 5 นาย มีครูผู้ดูแลเด็ก จำนวน 2 คน โดยมี ร.ต.ต.สนั่น กาวิ ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่

 

ห้องพยาบาลของโรงเรียน

   เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวขนาด 3 x 3 เมตร มีครูพยาบาลจำนวน 1 นาย อยู่ระหว่างรอการอบรมหลักสูตรพยาบาลสนาม

 

ปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่

                        1. การส่งต่อผู้ป่วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมลำบาก ขาดงบประมาณและยานพาหนะในการส่งต่อผู้ป่วย โดยต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวซึ่งมีจำนวนน้อยมาก กรณีที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว (ส่วนใหญ่) ต้องขอความช่วยเหลือจากพ่อหลวง และเป็นการส่งต่อผู้ป่วยข้ามเขตบริการ เพราะ รพ.สต.ที่ใกล้และเดินทางสะดวก คือ รพ.สต.บ้านอุมโล๊ะ ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 

                        2. ความเชื่อมโยงระบบการให้บริการและข้อมูลสุขภาพกับระบบของกระทรวงสาธารณสุข

                        3. ขาดแคลน ยา เวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น ชุดเย็บแผล ชุดทำแผล ชุดช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น หรือชุดทำคลอดฉุกเฉิน

 

แนวทางแก้ไข

                        1. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานกับสำนักนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยโดยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ได้รับบริการสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทและการเดินทางในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบ

                        2. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนงบประมาณเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย

3. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะดำเนินการประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพให้เป็นฐานข้อมูลเดี่ยวกัน และสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ที่ขาดแคลน เช่น    ชุดเย็บแผล ชุดทำแผล ชุดช่วยฟื้นคืนชีพฉุกเฉิน รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาด้านสุขภาพ

4. การพัฒนาศักยภาพด้านสุขภาพแก่เจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทานฯ อสม. และหมอตำแย

 

ปัญหาด้านอื่น

               1. ระบบการสื่อสารไร้สายผ่านดาวเทียม (internet) เสีย จะดำเนินการประสานกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ดำเนินการแก้ไข

 

 สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป

                        1. พัฒนาและวางระบบคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง โดยผู้รับผิดชอบงานสุขศาลาพระราชทานฯ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รวมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จะดำเนินการประมาณเดือน ตุลาคม 2558

                        2. การพัฒนาศักยภาพหมอตำแย และเจ้าหน้าที่สุขศาลาฯ ด้านการให้บริการงานอนามัยแม่และเด็ก จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

                        3. การพัฒนา และสนับสนุนระบบพลังไฟฟ้าและการสื่อสารไร้สายผ่านดาวเทียม

                        4. การพัฒนา และสนับสนุนระบบการส่งต่อผู้ป่วย

                        5. การตรวจเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่

พิกัด : 17.648516, 98.108388