สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ


๑.ประวัติโรงเรียน

กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกับคณาจารย์และนิสิตคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ศึกษาวิจัยแนวทางการดำเนินงาน  เพื่อพัฒนาความมั่นคง  และศึกษาภูมิปัญญาของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมอิสลาม  เพื่อให้เกิดสันติ โดยคัดเลือกหมู่บ้านไบก์  หมู่ที่ ๕  ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา   เป็นสถานที่ดำเนินการ จากการศึกษาวิจัยของคณะ และการพบปะประชาชนในพื้นที่ บ้านไบก์และหมู่บ้านใกล้เคียง  พบว่ามีประชากร จำนวน  ๑๗๕  ครัวเรือน ๙๒๖ คน มีเด็กวัยเรียนอายุ ๓-๕ ปี จำนวนมากไม่ได้เรียน เนื่องจากมีปัญหาทางครอบครัว และการเดินทางไปเรียนยังโรงเรียนสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน   ซึ่งอยู่ไกลจากหมู่บ้าน ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ยังไม่มีหน่วยงานใดให้การช่วยเหลือ เนื่องจากบ้านไบก์ เป็นที่เคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม  ประกอบกับกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๔ ได้จัดส่งชุดมวลชนสัมพันธ์เข้าปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕  โดยได้สนับสนุนโครงการฝึกอาชีพและกิจกรรมต่าง ๆ  มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันทำให้ประชาชนมีความตระหนัก และเข้าใจตำรวจตระเวนชายแดนเป็นอย่างดี พร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน จากการศึกษาวิจัยการสำรวจ และสืบสภาพหมู่บ้าน การพบปะผู้นำหมู่บ้าน และประชาชนมีความต้องการให้ตำรวจตระเวนชายแดนจัดตั้งโรงเรียน      เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลาน  กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้สั่งการให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๔  สำรวจรวบรวมข้อมูลเพื่อขอรับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๘ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้อนุมัติให้จัดตั้ง เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘ 

ต่อมาบริษัทกรุงไทยการไฟฟ้าจำกัด โดยนายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย  และนางสงวนศรี  สุทธพงษ์ชัย        ได้ทูลเกล้าถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สามล้านห้าแสนบาทถ้วน) เพื่อจัดซื้อที่ดินในการก่อตั้งโรงเรียน กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๔ ได้จัดซื้อที่ดินจากประชาชน โดยพื้นที่โรงเรียนทั้งหมด ๒๒ ไร่ ๒ งาน ๗๖ ตารางวา

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม  ๒๕๔๘ โรงเรียนได้เปิดทำการเรียนการสอนเป็นครั้งแรก โดยมีนายบุญสิทธิ์   สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานพิธีเปิด มีนักเรียนจำนวน ๗๐คน ครูตำรวจตระเวนชายแดน ๔ นาย จ่าสิบตำรวจวินัย  สุจริตธุระการ ทำหน้าที่ครูใหญ่ โดยใช้อาคารเรียนของโรงเรียนตาดีกา ประจำมัสยิดบ้านบาเฮะห์ ( บ้านไบก์ ) เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนชั้วคราว ใช้ชื่อว่า โรงเรียน ตชด.กรุงไทยการไฟฟ้าจำกัดอุปถัมภ์                     

เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ ได้ทำพิธีทางศาสนาอิสลาม ในการวางเสาเอกอาคารเรียน และได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนจนแล้วเสร็จสมบูรณ์  โดยได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด อัชชะกูรวัสดุภัณฑ์      ทำการก่อสร้างในส่วนโครงสร้าง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ใช้ชุดช่างตำรวจตระเวนชายแดนทำการก่อสร้าง

เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๕๐ พรรษา ๒ เมษายน๒๕๔๘ ( กรุงไทยการฟ้าจำกัด อุปถัมภ์)

เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราช

ดำเนินทรงงานในพื้นที่จังหวัดยะลาและด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยต่อประชาชนในบ้านไบก์ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนและทอดพระเนตรความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารเรียนด้วย

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนและทอดพระเนตรความคืบหน้าในการดำเนินงานของโรงเรียน

 

๒. เขตพื้นที่บริการของโรงเรียน

               ๑) บ้านไบก์ หมู่ ๕ ตำบลบุดี จำนวนครัวเรือน ๑๗๐ ครัวเรือน ประชากร ๑,๐๒๕ คน ชาย ๕๑๒ คน  หญิง ๕๑๓ คน เชื้อชาติ ไทย นับถือศาสนาอิสลาม

               ๒) บ้านบือแน หมู่ ๔ ตำบลบุดี จำนวนครัวเรือน ๒๔๘ ครัวเรือน ประชากร ๑,๓๘๘ คน ชาย ๖๖ คน  หญิง ๗๒๒ คน เชื้อชาติ ไทย นับถือศาสนาอิสลาม

 

๓.  สภาพชุมชน

               ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน  เป็นที่ราบเชิงเขา

               ศาสนาและภาษา   ราษฎรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิด จำนวน ๓ แห่ง ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษามลายู

               การประกอบอาชีพ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี ประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาท

               ด้านสาธารณูปโภค  มีไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน

               ด้านสาธารณสุข   สถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้โรงเรียนที่สุดคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บุดี อยู่ห่างประมาณ ๗ กิโลเมตร หากมีอาการเจ็บป่วยหนักจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา

               โรงเรียนมัธยมศึกษา ที่ใกล้เคียงที่สุด คือ โรงเรียนบ้านโกตาบารู หมู่ที่ ๑ เทศบาลตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร

               ด้านการสื่อสาร  โทรศัพท์ใช้ระบบเคลื่อนที่

 

๔. การคมนาคม     

เส้นทางรถยนต์ระยะทางจากศาลากลางจังหวัดยะลา ถึงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน             เฉลิมพระเกียรติฯ ๕๐ พรรษา รวม ๑๓ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง ๒๐ นาที ถนนลาดยางตลอดเส้นทางเส้นทางรถยนต์ระยะทางจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๔ ถึงโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติฯ ๕๐ พรรษา รวม ๗ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง ๑๐ นาที

 

๕  จำนวนครูและจำนวนนักเรียน

               ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ชั้นเด็กปฐมวัย ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6        

มีนักเรียนชายจำนวน 59 คน นักเรียนหญิงจำนวน 58 คน รวมทั้งสิ้น 117 คน 

ครูตำรวจตระเวนชายแดน 7 นาย ครูผู้ดูแลเด็กเล็ก 2 คน วิทยากรภาษาไทย 2 คน เจ้าหน้าที่สุขศาลา 1 คน

โดยมี ด.ต.หญิง อัญยรัตน์ อาหน่าย ทำหน้าที่ครูใหญ่

และ มี ส.ต.อ.ธีรยุทธ ชูกลิ่น ทำหน้าที่ครูพยาบาล

 

๖.  ห้องพยาบาลของโรงเรียน

                เป็นอาคารปูนชั้นเดียว มีครูพยาบาลจำนวน ๑ นาย ผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลสนาม

พิกัด :