สุขศาลาพระราชทาน
เลขที่ 88/44 หมู่ 4 ซอยสาธารณสุข 8 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
อีเมล์ติดต่อ : suksalamail@gmail.com
1.สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ 1.1) สถานที่ตั้ง สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปอหมื้อ ตั้งอยู่ภายในศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปอหมื้อ หมู่ที่ 9 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านจอท่า หมู่บ้านปอหมื้ออยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน และห่างจากแม่น้ำสาละวินซึ่งกั้นพรมแดนประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ ประมาณ 7.6 กิโลเมตร 1.2) สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพพื้นที่หมู่บ้านเป็นที่ราบตามเชิงเขาที่สูงสลับซับซ้อนเป็นแนวยาว เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาถนนธงชัยกลาง สูงจากระดับน้ำทะเล 650 เมตร มีป่าไม้หนาแน่นและมีลำห้วยปอหมื้อไหลผ่าน ฤดูฝนน้ำในลำห้วยจะไหลแรง ฤดูร้อนน้ำจะมีปริมาณน้อย ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านจอกลอคีและหมู่บ้านจอปร่าคี ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่บ้านหน่อโบ๋ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่บ้านจอสิเดอร์เหนือ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่บ้านจอท่า (เดิม) และแม่น้ำสาละวิน 1.3) สภาพภูมิอากาศ ลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู โดยฤดูร้อนเริ่มเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และฤดูหนาวเริ่มในเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัดที่ระดับ 0-5 องศาเซลเซียส 1.4) พิกัดใน Google map 18.419492, 97.568073 2.การคมนาคม 2.1) การเดินทาง จากศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปสุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปอหมื้อ ประมาณ 233 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง ในฤดูฝนอาจต้องใช้ใช้เวลา 10-12 ชั่วโมง หรือน่านกว่านั้นแล้วแต่สภาพเส้นทางและสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วยเข้าเขตถนนลูกรัง การเดินทางจากอำเภอแม่สะเรียง เข้าพื้นที่ มี 3 วิธี ดังนี้ 2.1.1 ทางบก ด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์จะไปถึงบ้านโพซอ (2 ชั่วโมง) จากบ้านโพซอไปบ้านคิดถึงเป็นทางลูกรังใช้เวลา 2 ชั่วโมง จากบ้านคิดถึงไปบ้านจอซิเดอเหนือ (2 ชั่วโมง) จากบ้านจอซิเดอเหนือไปบ้านปอหมื้อ (2 ชั่วโมง) รวม 8 ชั่วโมงในฤดูร้อน และ 14 ชั่วโมง ในฤดูฝน แต่หากเดินเท่าก็จะใช้เวลามากกว่านั้น 2.1.2 ทางเรือ จากอำเภอแม่สะเรียงเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถยนต์โดยสารประจำทางถึงท่าเรือแม่สามแลบใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง จากท่าเรือแม่สามแลบนั่งเรือขนส่งสินค้า บางวันก็ไม่มีเรือ ต้องจ้างเหมาเรือ ขึ้นเรือจากแม่สามแลบถึงบ้านจอท่า (เป็นฐานปฏิบัติการของ ร้อย ตชด.337 กก.ตชด.33) ใช้เวลาในการเดินเรือ ประมาณ 5 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางเท้าขึ้น - ลงเขาใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมง ถึงหมู่บ้านปอหมื้อ 2.1.3 ทางอากาศ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากอำเภอแม่สะเรียง ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที 2.2) สภาพเส้นทาง จากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนสภาพเส้นทางส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง แต่เมื่อเริ่มเข้าเขตพื้นที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าสาระวิน อำเภอแม่สะรียง ตั้งแต่หมู่บ้านโพซอ ทางจะเป็นทางดินลูกรัง ลัดเลาะไปตามลำน้ำและป่าเขา เส้นทางแคบ เหมาะกับการใช้จักรยานยนต์ มีจุดข้ามผ่านลำน้ำหลายจุด แต่หากเดินทางด้วยเรือแล่นทวนน้ำในแม่น้ำสาระวิน เรียบชายแดนประเทศไทยและเมียนม่าร์ ขึ้นไปทางตอนเหนือ และเมื่อถึงท่าเรือต้องใช้การเดินเท้าเข้าไปยังอยู่บ้านปอหมื้อ ระยะทางกว่า 5 – 6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นลงเขาตลอดเส้นทาง ควรใช้รถยนต์ยกสูงและขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือรถจักรยายนต์วิบากเท่านั้น (2.2.1) ฤดูแล้ง ทางดินลูกรังมีฝุ่นหนา แคบมาก และน้ำในลำน้ำมีปริมาณไม่มากสามารถข้ามผ่านได้ (2.2.2) ฤดูฝนเส้นทางเป็นดินโคลน แคบมากลื่นและอันตราย อาจมีดินถล่มหรือทางขาดได้ในบางจุด ลำน้ำที่ต้องข้ามผ่านมีปริมาณมาก ไหลเชี่ยว อาจทำให้ไม่สามารถข้ามผ่านได้ 3.ระบบสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม 3.1) ระบบไฟฟ้า ใช้ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) 3.2) ระบบน้ำดื่ม/น้ำใช้ ใช้น้ำประปาภูเขา สูบเก็บไว้ในถังเก็บน้ำ 3.3) ระบบอินเตอร์เน็ต ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ TOT 3.4) ระบบโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ 3.5) การใช้งานระบบ Telemedicine สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปอหมื้อได้รับการติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์และกล้องเว็บแคมเพื่อใช้งานระบบเทเลเมดิซีนผ่านโปรแกรมและระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้ติดตั้งไว้ โดยสามารถใช้งานในการสื่อสารเพื่อการรักษาทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลแม่สะเรียง (แม่ข่าย) การใช้งานไม่ค่อยเสถียรและสัญญาณภาพไม่ค่อยดี โดยปัจจุบันใช้การสื่อสารทางระบบไลน์เป็นหลัก 4.สภาพชุมชน หมู่บ้านปอหมื้อ มีประชากร 271 คน สัญชาติไทยร้อยละ 42 บัตรสีขาว ร้อยละ 49 บุคคลไร้สัญชาติร้อยละ 9 โดยนับถือศาสนาคริสต์ ร้อยละ 90 ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ปลูกพริกและพืชผักต่างๆ บนที่ดินที่ได้รับจัดสรรเนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงได้รับจัดสรรที่ดินทำกินไม่เกิน 10 ไร่ และสำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ผลผลิตทางการเกษตรต่ำ ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและดินขาดความสมบูรณ์ มีการเลี้ยงโค กระบือ แพะ ไว้ขาย ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 4,000 - 10,000 บาท/ปี ส่วนใหญ่ฐานะยากจน มีลูกมาก เฉลี่ยครอบครัวละ 5 - 7 คน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 20 - 50 บาทต่อวัน เสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้านส่วนใหญ่ได้รับจากการบริจาค อาหารปรุงจากพืชผักที่ปลูกหรือหาของกินจากป่า โดยพบว่าร้อยละ 77.9 ของครัวเรือนมีส้วมใช้ 5.การให้บริการของสุขศาลาพระราชทาน 5.1 การใบริการ สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปอหมื้อ เริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2558 จากการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2558 ด้วยทรงเห็นว่าประชาชนในหมู่บ้านปอหมื้อ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ประกอบกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนในขณะนั้นและครูใหญ่ของโรงเรียนได้กราบทูลขอพระราชทานสุขศาลา โดยใช้สถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านปอหมื้อ เป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาได้มีการสร้างอาคารสุขศาลาพระราชทานหลังใหม่ขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มจิตอาสาก๊อกแชร์บุญในการก่อสร้างจนเสร็จในปี 2562 และเปิดให้บริการในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2562 ในด้านยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ได้รับการสนับสนุนจาก 6 แหล่ง คือ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33, มูลนิธิหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, โรงพยาบาลแม่สะเรียง, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งแล้ง, หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 1.1.2 แม่สะเรียง, ผู้บริจาคและผู้มีจิตศรัทธา โดยให้บริการในด้านต่างๆดังนี้ - ด้านการรักษาโรคเบื้องต้น - ด้านการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ได้รับอุบัติเหตุ - ด้านการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย - ด้านการส่งต่อผู้ป่วย - ด้านการรับฝากครรภ์ - ด้านการทำคลอด - ด้านการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หญิงหลังคลอดและทารกแรกคลอดที่บ้าน - ด้านงานอนามัยโรงเรียน - ด้านการป้องกันโรคตามฤดูกาล เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด จากเม็ดลูกเนียงป่า จากเมล็ดมะกล่ำช้าง เป็นต้น สุขศาลาพระราชทานบ้านปอหมื้อใช้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางเรือ ทางรถยนต์ จักรยานยนต์ รวมทั้งการเดินเท้า แต่หากผู้ป่วยมีอาการสาหัสหรือฉุกเฉิน จะใช้การประสานขออากาศยาน(เฮลิคอปเตอร์) ทีมสกายดอกเตอร์บินเข้ามารับตัวส่งไปยังโรงพยาบาลแม่สะเรียง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยมีเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลแม่สะเรียง หน่วยป่าไม้บ้านจอปราคีในสังกัดของสำนักอนุรักษ์ที่ 16 แม่สะเรียง, องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คง, สถานบริการสุขภาพชุมชนบ้านจอปราคี, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 905 และภาคเอกชน ได้แก่ องค์กร Compassion, ชมรมจิตอาสาก๊อกแชร์บุญ ผดุงครรภ์โบราณ/อาสาสมัครงานแม่และเด็กที่ผ่านการอบรมจากห้องคลอด โรงพยาบาลแม่สะเรียง อาสาสมัครฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ได้รับการอบรมจากทีมพี่เลี้ยงชายแดน ในส่วนของที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ พบบ่อยเนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในแต่ละวันทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ร่วมกับพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม การไม่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค เช่น การใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอ หรือจาม การไม่สวมใส่เสื้อผ้ารักษาความอบอุ่นของร่างกายในช่วงฤดูหนาว การอยู่อาศัยรวมกันในบ้านหลังเดียวที่ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี การนอนใกล้เตาไฟที่ใช้หุงหาอาหาร เป็นต้น หมู่บ้านที่อยู่ในเขตการให้บริการมี 1 หย่อมบ้าน คือ บ้านปอหมื้อ มีจำนวน 42 หลังคาเรือน จำนวนประชากร 271 คน เพศชาย 136 คน เพศหญิง 135 คน 5.2 ลักษณะอาคารบริการ เป็นอาคารเดี่ยวชั้นเดียว ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หน้ากว้าง 15 เมตร x 10 เมตร หลังคามุงด้วยสังกะสีแบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน บริเวณพักคอยรับบริการอยู่โซนกลาง บริเวณตรวจรักษาโร และปฐมพยาบาลอยู่โซนซ้ายมือ ห้องเก็บยาและเวชภัณฑ์และมุมสื่อสารความรู้อยู่โซนขวามือ สร้างด้วยงบบริจาคจากชมรมจิตอาสาก๊อกแชร์บุญ จำนวนเงิน 450,000 บาท เมื่อเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีพ่อหลวงทองพูน ผู้ใหญ่บ้านแม่ลางิ้ว เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยด้านหลังของสุขศาลาพระราชทานติดเนินเขา พิกัด : 18.419492, 97.568073 |