สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี (บ้านพะกะเช)


1.สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

                1.1) สถานที่ตั้ง สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี (บ้านพะกะเช) หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทางทิศใต้สุดของจังหวัดเชียงใหม่ติดกับจังหวัดตาก อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

                1.2) สภาพทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความสูงสลับซับซ้อนทางตอนเหนือของประเทศไทย ชุมชนจึงตั้งอยู่ตามไหล่เขาหรือตามเนินเขาที่พอมีพื้นที่ราบ ป่าไม้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร  

                ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบราโกร หมู่ที่ 15 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

                ทิศใต้ ติดต่อกับ ตัวตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

                ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหัวโละ หมู่ที่ 11 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

                ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านโฆ๊ะผะโดะ หมู่ที่ 15 ตำบลแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 

                1.3) สภาพภูมิอากาศ ลักษณะอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู โดยฤดูร้อนเริ่มเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน และฤดูหนาวเริ่มในเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวจัดที่ระดับ 0-5 องศาเซลเซียส

                1.4) พิกัดใน Google map 17°18'21.7"N 98°25'19.8"E

2.การคมนาคม

                2.1) การเดินทาง จากตัวศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ไปยังสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี ระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร โดยมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหมายเลข 3035 ไปทางอำเภอดอยหลอ โดยใช้เส้นทางรองหมายเลข 108 จนถึงอำเภอฮอด และไปตามเส้นทางหมายเลข 1099 จนถึงอำเภออมก๋อย และเดินทางต่อไปผ่านตำบลแม่ตื่นและตำบลม่อนจอง และบ้านพะกะเช ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

                2.2) สภาพเส้นทาง เป็นถนนลาดยางเส้นทางเป็นภูเขาสลับกับทางราบ ระยะทางประมาณ 267 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางถนนลูกรังลัดเลาะไปตามเทือกเขาอีก 13 กิโลเมตร ความสะดวกในการเดินทางอยู่ในช่วงระหว่าง เดือนพฤษภาคม - เดือนมีนาคม ของทุกปี

                (2.2.1) ฤดูแล้ง เส้นทางเป็นดินลูกรังมีฝุ่นหนา บางช่วงมีความชันและเป็นหน้าผาเขาหัวโล้น และอากาศแล้งอาจมีไฟป่าระหว่างเส้นทางได้

                (2.2.2) ฤดูฝนทางจะลำบากมากในช่วงนี้จะต้องเจอกับดินโคลนที่ยากลำบากและเป็นหลุม เป็นบ่อ โดยต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ต้องพันล้อด้วยโซ่เท่านั้น จึงต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็น 8-9 ชั่วโมง ในช่วงฤดูฝน

3.ระบบสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม

                3.1) ระบบไฟฟ้า ใช้พลังงานงานแสงอาทิตย์ (Solar cell )

                3.2) ระบบน้ำดื่ม/น้ำใช้ ใช้น้ำประปาภูเขาของกรมชลประทาน

                3.3) ระบบอินเตอร์เน็ต ใช้สัญญานอินเตอร์เน็ตจาก บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) และใช้สัญญานอินเตอร์เน็ตจาก AIS

               3.4) ระบบโทรศัพท์ สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ชัดเจนของเครือข่าย AIS เท่านั้น

               3.5) การใช้งานระบบ Telemedicine ได้รับการติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์และกล้องของระบบการแพทย์ทางไกล ผ่านโปรแกรมและระบบอินเตอร์เน็ตที่ทางบริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) ได้มาติดตั้งเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร ส่วนใหญ่จะติดต่อสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ตื่นในเรื่องการรักษาพยาบาลหรือการส่งต่อผู้ป่วย

4.สภาพชุมชน

               บ้านพะกะเชก่อตั้งเมื่อประมาณ 80 ปี โดยนายพะกะเช เป็นผู้นำในการก่อสร้างครั้งแรก มีประชากรทั้งหมด 363 คน ชาย 166 คน หญิง 197 คน ประชากรทั้งหมดเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ แต่มีสัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธและผีกว่า 85% และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ประมาณ 15% ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาโดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ส่วนที่อายุต่ำกว่านั้นเริ่มได้รับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของภาษาที่ชาวบ้านใช้มีทั้งภาษาที่ใช้สื่อสารด้วยกันเอง และใช้สื่อสารกับคนภายนอกรวมถึงหน่วยงานราชการ ดังนี้ ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาที่ชาวบ้านใช้พูดคุยติดต่อสื่อสารกันของคนภายในเผ่าเดียวกันรวมไปถึงในพิธีกรรมต่างๆ ภาษาคำเมือง เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวเหนือที่ชาวบ้านใช้พูดคุยกับคนในพื้นที่ภาคเหนือหรือคนที่พูดคำเมืองได้ และภาษากลาง เป็นภาษาที่ชาวบ้านใช้พูดคุยกับบุคคลทั่วไปที่ไม่สามารถพูดภาษาเหนือได้หรือใช้ติดต่อกับหน่วยงานราชการ ในส่วนของการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ข้าวโพด ทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ผล ผักสวนครัว อาทิ ผักกาด พริก มะเขือ ถั่ว และไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นประจำทุกปีไว้บริโภคภายในครัวเรือน

5.การให้บริการของสุขศาลาพระราชทาน

               5.1 การใบริการ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2557 มีครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลาพระราชทานคอยให้บริการ โดยได้รับการสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์การแพทย์จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มูลนิธิหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งต้นงิ้ว มีเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่โดยมีพี่เลี้ยงจากสาธารณสุขทุ่งต้นงิ้วซึ่งอยู่ถัดจากอีกบ้านหนึ่ง แต่ดำเนินการร่วมกับพี่เลี้ยงที่คอยกำกับดูแลอย่างสม่ำเสมอ และมี อสม.ในพื้นที่คอยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ โดยเปิดให้บริการในด้านต่างๆ ดังนี้

               - การตรวจและการรักษาพยาบาลเบื้องต้น

               - ทำการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและหญิงคลอดบุตร

               - ให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์และเด็กแรกเกิด

               - เข้าไปเยี่ยมและแจกนมผงพระราชทานให้แก่เด็กแรกเด็กเกิดที่มีพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์

               - วางแผนครอบครัว เช่น จ่ายยาคุมกำเนิด ( แต่ไม่มีการฉีดยาคุมกำเนิด )

               ในส่วนของโรคอันดับแรกที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคทางเดินอาหารเป็นหลัก เนื่องจากประชาชนที่นี่จะขาดแคลนในเรื่องของอาหารการกิน จึงกินอาหารที่ไม่ค่อยเหมาะสมตามโภชนาการเท่าที่ควร เช่น กินน้ำพริกใส่เกลือที่เผ็ด ส่วนน้ำดื่ม ใช้น้ำประปาซึ่งไม่ผ่านกระบวนการกรองน้ำจึงทำให้น้ำที่ดื่มไม่ค่อยสะอาด จึงเป็นสาเหตุสำคัญส่งผลให้มีปัญหาในโรคทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี มีหมู่บ้านที่อยู่ในการให้บริการ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

               1. บ้านพะกะเช มี 80 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 363 คน ชาย 166 คน หญิง 197 คน

               2. บ้านดูเชอะ มี 7 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 38 คน ชาย 18 คน หญิง 20 คน

               5.2 ลักษณะอาคารบริการ เป็นอาคารปูน มีลักษณะเป็นอาคารห้องเดียว ชั้นเดียว แบ่งเป็น 3 ส่วน หลักๆได้แก่ ส่วนด้านหน้า จะเป็นที่โต๊ะตั้งคอมพิวเตอร์รวมกับที่เก็บเอกสารการให้บริการของสุขศาลาพระราชทาน ด้านข้างทางซ้ายจะเป็นโต๊ะตรวจอยู่รวมกับตู้เก็บยาและเวชภัณฑ์ ส่วนด้านหลังทางขวาจะเป็นเตียงผู้ป่วย โดยมีห้องน้ำอยู่ภายในตัวอาคาร จำนวน 1 ห้อง

พิกัด :