สุขศาลาพระราชทาน
เลขที่ 88/44 หมู่ 4 ซอยสาธารณสุข 8 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
อีเมล์ติดต่อ : suksalamail@gmail.com
1.สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ 1.1) สถานที่ตั้ง สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2543 (บ้านสะไล) ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบล บ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน 1.2) สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน สลับซับซ้อน กั้นขวางตามแนวชายแดนติดกับประเทศลาว พื้นที่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 40 โดยเฉาะไหล่เขาค่อนข้างลาดชันมาก เป็นเขาหัวโล้นต้นไม้น้อย และไม่ค่อยมีพื้นที่ราบมากนัก ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบ้านสะจุก ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านน้ำว้า และบ้านนากึ๋น ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ ทิศตะวันตก บ้านนากึ๋น และบ้านเวร ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ 1.3) สภาพภูมิอากาศ อากาศโดยทั่วไปจะเย็นสบายตลอดทั้งปี เนื่องจากมีลมภูเขาและลมหุบเขา แต่เมื่อถึงฤดูหนาวอากาศจะหนาวจัดมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนอาจลดลงได้ถึง 0 องศาเซลเซียส อากาศจึงหนาวเย็นตลอดทั้งปี ในส่วนของฤดูร้อนจะร้อนที่สุดแค่ในเดือนเมษายน เมื่อพ้นเดือนเมษายนก็จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน โดยฝนจะตกชุกไปถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี เป็นอิทธิพลจากลมมรสุมในอ่าวตังเกี๋ยซึ่งพัดผ่านประเทศเวียดนามและประเทศลาว จึงถูกเรียกว่าเป็นเมืองในหุบเขาสองฤดู 1.4) พิกัดใน Google map 19°19'59.8"N 101°10'51.9"E 2.การคมนาคม 2.1) การเดินทาง การเดินทางเข้าไปยังสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2543 สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้สะดวก เริ่มต้นจากอำเภอบ่อเกลือ มุ่งหน้าไปยังตำบลบ่อเกลือเหนือโดยใช้เส้นทางหมายเลข 1081 จนถึงจุดตรวจบ้านนาปง และเลี้ยวเข้าไปทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีฯ โดยตัวสุขศาลาพระราชทาน จะถึงก่อนตัวโรงเรียน ระยะทางรวมประมาณ 26 กิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างสะดวก จากปากทางถนนใหญ่เข้าไปยังตัวสุขศาลาพระราชทานระยะทางไม่ไกลนัก 2.2) สภาพเส้นทาง สภาพเส้นทางเป็นเส้นทางถนนลาดยางประมาณ 23 กิโลเมตร และเป็นถนนลูกรังสลับกับคอนกรีตในบางช่วงอีกประมาณ 3 กิโลเมตร โดยถนนลูกลังเป็นเส้นทางลัดเลาะไปตามไหล่และยอดเขาสูงชัน ถนนค่อนข้างแคบรถสวนกันลำบาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการเดินทาง (2.2.1) ฤดูแล้ง ถนนลูกรังมีฝุ่นหนา แต่เป็นช่วงที่เดินทางสะดวกที่สุด แต่ต้องระมัดระวังเรื่องฝุ่นที่ทำให้บดบังการมองเห็น (2.2.2) ฤดูฝนถนนบางช่วงเป็นดินโคลน ลื่น เป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงโดนกัดเซาะหรือมีดินโคลนถล่ม การเดินทางลำบากและอันตราย ต้องใช้ความระมัดระวังมาก โดยควรใช้รถยนต์ยกสูงหรือขับเคลื่อน 4 เป็นหลัก 3.ระบบสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม 3.1) ระบบไฟฟ้า สามารถใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งได้เดินเสาและสายส่งเข้ามาถึงตัวสุขศาลาพระราชทาน 3.2) ระบบน้ำดื่ม/น้ำใช้ ใช้น้ำประปาภูเขา สูบเก็บไว้ในถังเก็บน้ำ 3.3) ระบบอินเตอร์เน็ต ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายสัญญาณ AIS เป็นหลัก และใช้อินเตอร์เน็ตดาวเทียมของ TOT ร่วมด้วย 3.4) ระบบโทรศัพท์ การให้บริการด้านการสื่อสารในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยสัญญาณในเขตพื้นที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละฤดู และระบบไฟฟ้าในพื้นที่ โดยสามารถใช้สัญญาณของเครือข่าย True และ AIS ในพื้นที่ได้ 3.5) การใช้งานระบบ Telemedicine สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2543 (บ้านสะไล) ได้รับการติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์และกล้องเว็บแคมเพื่อใช้งานระบบเทเลเมดิซีนผ่านโปรแกรมและระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้ติดตั้งไว้ โดยสามารถใช้งานในการสื่อสารเพื่อการรักษาทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลบ่อเกลือได้ ส่วนใหญ่เป็นการปรึกษาและขอคำแนะนำด้านการปฐมพยาบาล การรักษาผู้ป่วยจากแพทย์ของโรงพยาบาลพี่เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ การใช้งานขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในช่วงขณะนั้น ในปัจจุบันการใช้งานระบบเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานใช้งานทางโปรแกรมไลน์จะสะดวกและรวดเร็วกว่า 4.สภาพชุมชน บ้านสะไลเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาแต่ดั้งเดิม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าตั้งขึ้นเมื่อใด มีการตั้งชุมชนอยู่อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มๆหลังคาบ้านส่วนใหญ่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา หมู่บ้านตั้งอยู่บนไหล่เขาบนพื้นที่สูง ประกอบด้วย บ้านสะไลน้อย บ้านสะไลหลวง และบ้านห้วยลึก แต่ก็ยังรวมเป็นการปกครอง ๑ หมู่บ้าน บ้านสะไลราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวลั๊วะ ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองท้องถิ่นที่มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบและพื้นที่ภูเขามายาวนาน และไม่อยู่อาศัยปะปนกับชุมชนชาวพื้นเมืองอื่น ชาวลัวะมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง โดยใช้ภาษา ลัวะ ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น โดยได้รับสัญชาติไทยมีทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนคนไทย มีลักษณะวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและยังมีการนับถือผีอยู่ และมีนับถือ ศาสนา พุทธ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น กาแฟ ถั่วดาวอินคา และปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ (ข้าวเหนียว) ตามเชิงเขาเอาไว้กินในครัวเรือน 5.การให้บริการของสุขศาลาพระราชทาน 5.1 การใบริการ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2543 (บ้านสะไล) เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2560 มีครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน ปฏิบัติงานในการให้บริการประจำสุขศาลาพระราชทาน โดยมีกรอบการให้บริการของสุขศาลาพระราชทานซึ่งได้กำหนดร่วมกับเครือข่ายและพี่เลี้ยงสาธารณสุขและตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้เป็นกรอบการดำเนินงานสำหรับการให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทสภาพปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ ดังนี้ 1) การรักษาพยาบาล การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการส่งต่อผู้ป่วย - ให้บริการตรวจคัดกรองและรักษาโรคเบื้องต้น - ให้การพยาบาลฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้น - ทำการส่งต่อผู้ป่วยกรณีปัญหารุนแรงเกินศักยภาพ 2) การส่งเสริมสุขภาพ - ให้สุขศึกษาหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว - ให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์และนัดมาตรวจและฝากครรภ์ตามนัด - ให้บริการตรวจครรภ์เบื้องต้นและติดตามหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอดและหลังคลอด - ตรวจคัดกรอง ค้นหาความผิดปกติด้านโภชนาการและพัฒนาการให้ได้ตามเกณฑ์ - ให้คำแนะนำการดูแลเด็กทั้งด้านพัฒนาการเจริญเติบโตและความรู้เฉพาะโรค เฉพาะราย - สรุปการข้อมูลการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ - สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลส่งเสริม สุขภาพเด็กและสุขภาพช่องปาก - วางแผนครอบครัว เช่น การจ่ายยาเม็ด ถุงยางอนามัย (ยกเว้นการฉีดยาคุมกำเนิดหรือวิธีอื่น) - สร้างความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ เน้นให้นักเรียนและประชาชนปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เช่น การล้างมือ - ส่งเสริมและให้ความรู้จัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค - เผยแพร่สื่อหรือเอกสารและให้ความรู้แก่ประชาชน 3) การควบคุมและป้องกันโรค - เฝ้าระวังควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในพื้นที่ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล - เก็บสิ่งส่งตรวจค้นหาโรคหนอนพยาธิ - ร่วมสร้างข้อตกลงหรือรณรงค์ให้โรงเรียนและชุมชนปลอดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด 4) การฟื้นฟูสมรรถภาพ - ติดตามฟื้นฟูผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ 2 ราย และผู้ป่วยผู้พิการ (ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในพื้นที่) 5) การคุ้มครองผู้บริโภค - แนะนำการบริโภคและจำหน่ายเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน - แนะนำการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีหมายเลข อย. การเลือกซื้อของที่ระบุวันผลิต/วันหมดอายุ 6) งานอนามัยสิ่งแวดล้อม - แนะนำการคัดแยกและการกำจัดขยะในครัวเรือนและชุมชน - แนะนำการเลี้ยงสัตว์แบบกักขัง ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยง เช่น หมู สุนัข มารบกวนในชุมชนและสถานที่ส่วนรวม 7) เสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการจัดการสุขภาพ - พัฒนาศักยภาพ อสม. แกนนำชุมชน และเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่สุขศาลาพระราชทานให้มีทักษะในการจัดการสุขภาพชุมชน - ส่งเสริมการมีสุขภาพชุมชนแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่สุขศาลาพระราชทาน - ดำเนินกิจกรรมต่างๆในชุมชนร่วมกับเครือข่าย เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก อสม. ผู้นำชุมชน นอกจากนี้สุขศาลาพระราชทานยังได้ร่วมดำเนินงานสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมกับพี่เลี้ยงที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ่อเกลือ โรงพยาบาลบ่อเกลือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อเกลือเหนือ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่ ซึ่งจะครอบคลุมประเด็นสุขภาพในทุกมิติ โรคที่พบบ่อยในพื้นที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากเป็นพื้นที่สูง มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี โดยสุขศาลาพระราชทานได้รับมอบให้ดูแลรับผิดชอบหมู่บ้านในพื้นที่ให้บริการ คือ บ้านสะไล มีประชากรรวม 704 คน ประกอบด้วยกลุ่มบ้านบริวารจำนวน 3 กลุ่มบ้าน มีจำนวนหลังคาเรือน 147 หลังคาเรือน รายละเอียดดังนี้ - บ้านสะไลน้อย จำนวน 34 หลังคาเรือน - บ้านสะไลหลวง จำนวน 55 หลังคาเรือน - บ้านห้วยลึก จำนวน 58 หลังคาเรือน 5.2 ลักษณะอาคารบริการ อาคารให้บริการเป็นอาคารปูนชั้นเดียวรูปทรงตัวที ภายในกั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โซนตรวจรักษาและมุมการเรียนรู้ด้านสุขภาพและโซนของการทำหัตถการและสังเกตอาการ โดยมีห้องน้ำสำหรับผู้ป่วยอยู่ในอาคารไว้ให้บริการ จำนวน 1 ห้อง และยังมีอาคารห้องน้ำภายนอกแยกออกมาเพิ่มเติมอีกด้วยซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังอาคาร จำนวน 2 ห้อง แยก ชาย-หญิง ในส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีที่พื้นที่ว่าง จึงได้มีการจัดที่นั่งสำหรับผู้รับบริการนั่งคอยด้านนอกได้อย่างเหมาะสม พิกัด : 19.332470, 101.180092 |