สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ


๑. ประวัติความเป็นมา

                  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ หมวดตำรวจตระเวนชายแดน ๖๑๑ ตั้งฐานปฏิบัติการที่หมู่บ้านเลตองคุ พบว่าประชาชนทั้งหมู่บ้านพูดภาษาไทยได้เพียงคนเดียวคือนายหม่อเอหมี่ และในเดือนสิงหาคม ๒๕๒๙ หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๖๑๐ ขึ้นปฏิบัติการ จึงได้เปิดสอนหนังสือ มีเด็กมาเรียน ๗ คน คือ เป็นชาย ๔ คน หญิง ๓ คน เปิดสอนได้ ประมาณ ๑ เดือน ก็ต้องยกเลิกเพราะว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กๆ เข้าเรียนเพราะกลัวว่า วัฒนธรรมประเพณีลัทธิฤๅษีที่พวกตนเคารพนับถือจะถูกทำลาย เมื่อปี ๒๕๓๒ ผกก.ตชด.๓๔ (พ.ต.อ.เทโพ  ตรีชนะ) และ ผบ.ร้อย.ตชด.๓๔๗ (ร.ต.อ.ไพศาล สุระวาศรี) ได้เดินทางตรวจเยี่ยมหน่วยและราษฎรในพื้นที่พบว่าราษฎร ในพื้นที่บ้านเลตองคุ ไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ มีแต่เพียงผู้ใหญ่บ้านคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาไทยได้บ้าง ในชั้นแรก กก.ตชด.๓๔ จึงร่วมกับทาง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก ได้จัดเจ้าหน้าที่จำนวน ๒ นาย และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก จัดครูอาสาสมัคร ๑ นาย ขึ้นไปจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนภาษา ได้เปิดทำการสอนในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๓๓ โดยชาวบ้านได้จัดสร้างอาคารให้ ๑ หลังขนาด ๘ X ๒.๕ เมตร เพื่อใช้เป็นที่พักครูและสถานที่ทำการเรียนการสอน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดตาก และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๔ ได้ติดต่อประสานงานกับ องค์การยูนิเซฟ เพื่อขอรับงบประมาณ สนับสนุนในการจัดทำโครงการพัฒนาเสริมความมั่นคงและคุณภาพชีวิตชาวเขา ซึ่งองค์การยูนิเซฟ ได้ให้การสนับสนุนให้ดำเนินการได้ในปี ๒๕๓๔

 

๒. เขตบริการโรงเรียนตำรวจตระเวรชายแดนบ้านเลตองคุ

                  โรงเรียนตำรวจตระเวรชายแดนบ้านเลตองคุ มีเขตบริการจำนวน ๑ หมู่บ้าน คือบ้านเลตองคุหมู่ที่ ๑๐ ตำบล แม่จัน อำเภอ อุ้มผาง จังหวัด ตาก จำนวน ๒๓๕ ครัวเรือน ประชากร ๑,๑๙๔ คน ชาย ๖๕๘ คน หญิง ๕๓๖ คน

 

๓. สภาพชุมชน

                  ลักษณะทั่วไป  เป็นที่ราบหุบเขามีภูเขาล้อมรอบห่างจากชายแดนพม่า ๓ กิโลเมตรอยู่ในป่าเขตสงวนแห่งชาติ

                  ศาสนาและภาษา  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ลัทธิ ฤาษี) ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารคือ ภาษาไทย และภาษากะเหรี่ยง

                  การประกอบอาชีพ  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม (ปลูกพริก ปลูกข้าว สวนหมาก สวนทุเรียน ) รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี ประมาณ  ๓๐,๐๐๐ บาท

                  สาธารณูปโภค  มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และประปาภูเขา

                  สาธารณสุข  สถานีอนามัยบริการของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ รพ.สต.เปิ่งเคลิ่ง อยู่ห่าง ๑๖ กิโลเมตร หากผู้ป่วยมีอาการปวดรุ่นแรงจะส่งต่อรักษาที่ โรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก

                  โรงเรียนมัธยม (ขยายโอกาส)  ที่อยู่ใกล้ที่สุด คือ โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไลอมตยกุล หมู่ที่ ๙ ตำบล      แม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร

                  ด้านการสื่อสาร  โทรศัพท์ระบบดาวเทียม

 

๔. การคมนาคม

                  ระยะทางเดินทางจากศาลากลางจังหวัดตากถึงโรงเรียน รวม ๓๖๒ กิโลเมตร ถนนลาดยาง ๓๔๖ กิโลเมตร ถนนลูกรัง ๑๖ กิโลเมตร (เดินทางได้เฉพาะหน้าแล้ง)

                  ระยะทางเดินทางจากศาลากลางจังหวัด ถึง อำเภอแม่สอด ระยะทาง ๙๓ กิโลเมตร

                  ระยะทางเดินทางจากอำเภอแม่สอด ถึง อำเภออุ้มผาง ระยะทาง ๑๖๗ กิโลเมตร

                  ระยะทางเดินทางจากอำเภออุ้มผาง ถึง บ้านเปิ่งเคลิ่ง ระยะทาง ๘๖ กิโลเมตร

                  ระยะทางเดินทางจากเปิ่งเคลิ่ง ถึง โรงเรียน ระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร

                  ใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ประมาณ ๗ ชั่วโมง

 

๕. จำนวนครูและนักเรียน

ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ชั้นเด็กปฐมวัย ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6        

มีนักเรียนชายจำนวน 179 คน นักเรียนหญิงจำนวน 191 คน รวมทั้งสิ้น 370 คน

ครูตำรวจตระเวนชายแดน 4 นาย ครูผู้ดูแลเด็กเล็ก 2 คน

ครู สสท. ๑ คน ครูจ้าง อบจ. ๑ คน ครูจ้างเทศบาลตำบลแม่จัน ๒ คน และครูอาสา 2 คน

โดยมี ดาบตำรวจประชันย์  จันต๊ะวงค์ ทำหน้าที่ครูใหญ่

และ มี สิบตำรวจเอกส่งเสริม  มาลีศรีไสว ทำหน้าที่ครูพยาบาล

 

๖. ห้องพยาบาลของโรงเรียน (สุขศาลาพระราชทานฯ)

                  เป็นอาคาร ๒ ชั้น (ครึ่งปูนครึ่งไม้) ขนาด ๒๔ x ๘ เมตร มีครูพยาบาล ๑ นาย ผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลสนาม

พิกัด : 15.705391, 98.567395