สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อคคี่


1.สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

                1.1) สถานที่ตั้ง สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ ตั้งอยู่ในเขตโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ หมู่บ้านปิล๊อกคี่ หมู่ที่ ๔ ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในเขตน้ำท่วมจากท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ   

                1.2) สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพทางภูมิศาสตร์ของบ้านปิล๊อกคี่ ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาในเขตุอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และอยู่ลึกเข้าไปภายในเขื่อนวชิราลงกรณสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลาดตามเชิงเขามีภูเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นป่าโปร่งและมีป่าทึบบางส่วน มีน้ำในเขื่อนล้อมรอบทางทิศตะวันออกและทิศใต้ อยู่ห่างจากเขตขายแดนไทย-เมียนม่า ช่องทางป่าหมากประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขาทั้งหมด

   

                ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี

                ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ

                ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ

                ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอเยพิว และอำเภอตอตุง จังหวัดทวาย สหภาพเมียนม่า

                1.3) สภาพภูมิอากาศ ในช่วงฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อนจัด ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ส่วนในฤดูหนาวอากาศหนาว โดยสภาพอากาศในแต่ละฤดูได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอันดามันจากฝั่งเมียนม่าและลมจะเขื่อน จึงทำให้อากาศค่อนข้างแปรปรวน

               1.4) พิกัดใน Google map 14°49'11.7"N 98°24'27.0"E    

2.การคมนาคม

               2.1) การเดินทาง จากตัวศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรีถึงยังสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ ระยะทางประมาณ 177 กิโลเมตร ใช้การเดินทางทั้งทางรถยนต์มุ่งหน้าตามถนนหมายเลข 323 ไปยังอำเภอทองผาภูมิ และใช้ถนนหมายเลข 3272 ไปทางบ้านห้วยเขย่ง เลี้ยวเข้าไปยังท่าเรือท่าขนุนซอย 3 หรือ ซอย 4 ก็ได้ เพื่อขึ้นเรือรับจ้าง จากบ้านท่าแพ ถึง ฝั่งหมู่บ้านปิล๊อกคี่ เป็นระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเรือ ประมาณ 45 นาที และจะต้องต้องเดินทางต่อโดยรถยนต์หรือเดินเท้าจากท่าเรือฝั่งบ้านปิล๊อกคี่ ไปยังโรงเรียนอีกประมาณ 1-6 กิโลเมตรแล้วแต่สภาพน้ำในเขื่อนวขิราลงกรณ ในฤดูแล้งและต้นฤดูฝนจะลำบากเรื่องการเดินทางเพราะน้ำในเขื่อนลดลงมาก (ประมาณช่วงเดือน เม.ย.- ก.ย. ของทุกปี) ส่วนหลังฤดูฝนปริมาณน้ำอาจสูงจนเรือสามารถส่งได้ถึงหน้าซุ้มประตูของหมู่บ้าน เนื่องจากสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ใช้การสัญจรเข้า-ออก ทางเรือเป็นหลัก ส่วนเส้นทางบกใช้เส้นทางบ้านไร่-ล๊อกคี่ ระยะทางประมาณ 25-30 กิโลเมตร ไม่มีบ้านเรือนของประชาชนระหว่างทาง โดยเส้นทางจะสามารถใช้ได้ในช่วงฤดูร้อนที่ระดับน้ำในลำน้ำลดมากพอที่สามารถข้ามผ่านไปได้ แต่เส้นทางค่อนข้างรกทึบ อีกทั้งเส้นทางเป็นทางดินแคบขึ้นลงไปตามไหล่เขาและสันเขา สภาพทางเป็นโคลนและลื่น อาจพบเจอต้นไม้หักหรือทางขาดระหว่างการเดินทางได้ เนื่องจากไม่มีผู้คนใช้สัญจร จะมีก็เพียงชาวบ้านที่เข้ามาทำไรทำสวนและกลุ่มออฟโรดที่นิยมบุกป่าฝ่าดง ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเคยเกิดเหตุการณ์รถตกเขามาแล้ว

               2.2) สภาพเส้นทาง สภาพเส้นทางเป็นเส้นทางส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางประมาณ 156 กิโลเมตร วิ่งในตัวเมือง เป็นทางน้ำอีกประมาณ 21 กิโลเมตร และเมื่อถึงท่าเรือบ้านปิล๊อกคี่แล้วเส้นทางจะเป็นทางลูกรังลัดเลาะไปตามไหล่เขาและทุ่งหญ้า ส่วนทางคอนกรีตจะมีอยู่ช่วงตัวหมู่บ้านปิล๊อกคี่แล้วเท่านั้น ทั้งนี้การเดินทางช่วงหลังขึ้นอยู่กับสภาพปริมาณน้ำในเขื่อน โดยรวมสามารถเดินทางเข้า-ออก ได้ตลอดทั้งปี

               (2.2.1) ฤดูแล้ง หากน้ำในเขื่อนลดลงจะต้องเดินทางโดยรถยนต์หรือเดินเท้าจากท่าเรือบ้านปิล๊อกคี่ ประมาณ 1-6 กิโลเมตร แล้วแต่สภาพน้ำในเขื่อนว่าลดลงมากหรือน้อยเพียงใด เส้นทางลูกรังมีฝุนค่อนข้างเยอะ

               (2.2.2) ฤดูฝนน้ำในเขื่อนยังไม่เพิ่มปริมาณและมีฝนตกทำให้ทำให้เส้นทางสัญจรซึ่งเป็นถนนดินกับลัดเลาะไปตามเขตน้ำท่วมที่น้ำยังไม่ขึ้นท่วม มีความลื่นและเละเทะ ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ระยะทางประมาณ 4-6 กิโลเมตร แล้วแต่สภาพน้ำในเขื่อนว่าขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดในช่วงนั้น

3.ระบบสาธารณูปโภคและโทรคมนาคม

               3.1) ระบบไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ ขนาด 2.5 กิโลวัตต์

               3.2) ระบบน้ำดื่ม/น้ำใช้ ใช้น้ำประปาภูเขา สูบเก็บไว้ในถังเก็บน้ำ

               3.3) ระบบอินเตอร์เน็ต ใช้อินเตอร์เน็ตระบบจานดาวเทียม ของ TOT

               3.4) ระบบโทรศัพท์ สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ โดยมีสัญญาณเครือข่าย AIS เท่านั้น

               3.5) การใช้งานระบบ Telemedicine สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ ได้รับการติดตั้งชุดคอมพิวเตอร์และกล้องเว็บแคมเพื่อใช้งานระบบเทเลเมดิซีนผ่านโปรแกรมและระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้ติดตั้งไว้ โดยสามารถใช้งานในการสื่อสารเพื่อการรักษาทางการแพทย์ไปยังโรงพยาบาลทองผาภูมิได้ ส่วนใหญ่เป็นการปรึกษาและขอคำแนะนำด้านการปฐมพยาบาล การรักษาผู้ป่วยจากแพทย์ของโรงพยาบาลพี่เลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ การใช้งานขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในช่วงขณะนั้น บ่อยครั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร ภาพสะดุด หรือไม่สามารถเข้าระบบได้ ในปัจจุบันการใช้งานระบบเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานใช้งานทางโปรแกรมไลน์จะสะดวกและรวดเร็วกว่า

4.สภาพชุมชน

               หมู่บ้านปิล็อกคี่ ก่อตั้งเมื่อประมาณปี 2527 โดยชาวบ้านได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยหลังจากมีการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ และประกาศจัดตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2533 เป็นพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีเทือกเขาตะนาวศรี เป็นแนวแบ่งเขตแดน คำว่า “ปิล็อกคี่” เป็นภาษากะเหรี่ยง “ปิล็อก” แปลว่า ต้นน้ำ หรือสายน้ำ หรือลำน้ำ “คี่” แปลว่า หนึ่ง หรือลักษณะของการอยู่เดี่ยวๆเมื่อรวมกันแล้ว “ปิล็อกคี่” แปลว่า หมู่บ้านที่มีสายน้ำหนึ่งสาย คือ ลำห้วยปิล็อก ซึ่งไหนผ่านด้านข้างของหมู่บ้าน ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอทองผาภูมิ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีเนื้อที่ประมาณ 1,111 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 350 ไร่ และพื้นที่ทำกิน จำนวน 761 ไร่ ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาแหลมแบ่งเขตพื้นที่ให้เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้กับประชาชนแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ประชาชนส่วนใหญ่ มีเชื้อสาย กะเหรี่ยง มอญ พม่า และไทยบางส่วน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารจะใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก ประชาชนส่วนมากไม่ได้รับการศึกษา มีฐานะความเป็นอยู่ยากจนถึงปานกลาง นับถือศาสนาคริสต์(นิกายโปรแตสแตน)ประมาณ 80 % และนับถือศาสนาพุทธประมาณ 20 % อาชีพ ในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำไร่ข้าว ไร่มันสำปะหลัง ยางพารา เลี้ยงสัตว์ และการทำประมงในบางส่วน

5.การให้บริการของสุขศาลาพระราชทาน

               5.1 การใบริการ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 เดือน พฤศจิกายน 2558 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อาจารย์ บุญมา รัตนะอุบล และ คณะศิษย์เก่า โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ได้บริจาคงบประมาณในการก่ออาคารสุขศาลาพระราทานหลังใหม่ จำนวน เงิน 1,190,000 บาท โดยมีครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่สุขศาลาพระราชทาน ซึ่งผ่านการอบรมพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ในการให้บริการตามหลักสูตรที่กำหนดเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันเจ้าหน้าสุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ ได้มีการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้มีคุณวุฒิสูงขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ได้ผ่านการเรียนหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลเพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ระบบการส่งต่อผู้ป่วยใช้ทางเรือเป็นหลัก และได้รับสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอทั้งจากหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และคณะการบริจาค โดยมีการให้บริการด้านต่างๆ ดังนี้

               - ด้านการรักษาพยาบาล ได้ดำเนินการตรวจรักษา การเบิกจ่ายยา การล้างแผล

               - งานโภชนาการและพัฒนาการเด็ก เช่น ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงให้นักเรียนภาค เรียนละ 1 ครั้ง และคัดกรองภาวะโภชนาการ เด็ก 0-5 ปี

               - งานอนามัยแม่และเด็ก มีการรับฝากครรภ์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ทุกวันพุธ) ติดตามเยี่ยมหลังคลอด และให้คำแนะนำการดูแลตนเองระหว่างตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปคลอดบุตรที่ โรงพยาบาลในพื้นที่

               - งานวางแผนครอบครัว เช่น จ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด

               - งานทันตสาธารณสุข เช่น ให้ความรู้เรื่องการแปรงฟันที่ถูกวิธี และตรวจฟันนักเรียนภาคเรียนละ 1 ครั้ง

               - งานสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น ดูแลความสะอาดทั้งในและนอกอาคารสุขศาลา

               - เข้าร่วมกิจกรรมในการให้บริการด้านการแพทย์ของหน่วยแพทย์ เคลื่อนที่รอบ 2 เดือน

               ในการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือการให้บริการประจำวันของสุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ มีเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่ทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค จะเป็นการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายพี่เลี้ยงสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยวิชาชีพเฉพาะและต้องดำเนินการร่วมกับพี่เลี้ยงที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทองผาภูมิ โรงพยาบาลทองผาภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านอีต่อง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่ เพื่อให้การให้บริการสาธารณสุขมีความครอบคลุมประเด็นสุขภาพในทุกมิติ โดยโรคที่พบบ่อยในพื้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าเขา อากาศร้อนจัด และเย็นจัดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทั้งปี รวมทั้งปัญหาเรื่องฝุ่นควันจากไฟป่า โดยสุขศาลาพระราชทานบ้านปิล๊อกคี่ ดูแลรับผิดชอบในเขตพื้นที่หมู่ 4 ซึ่งมีเขตบริการ จำนวน 3 กลุ่มบ้าน จำนวน 259 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวน 1,690 คน ดังนี้

              - กลุ่มบ้านปิล๊อกคี่ หมู่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกลุ่มที่ตั้งของโรงเรียน จำนวน 210 ครัวเรือน ประชากร 1,466 คน ชาย 738 คน หญิง 728 คน

              - กลุ่มบ้านห้วยน้ำขุ่น หมู่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 10 กิโลเมตร (ทางเรือ) จำนวน 24 ครัวเรือน ประชากร 120 คน ชาย 52 คน หญิง 68 คน

              - กลุ่มบ้านเกริงแกะ หมู่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร จำนวน 25 ครัวเรือน ประชากร 104 คน ชาย 44 คน หญิง 60 คน

               5.2 ลักษณะอาคารบริการ อาคารให้บริการเป็นอาคารปูนเดี่ยวทั้งหลังแยกจากอาคารเรียน ลักษณะอาคารเป็นแบบสองชั้น ยกพื้นสูงชั้นล่างโปร่งมีพื้นที่สำหรับจัดบริการอื่นๆได้ ภายในห้องบริการแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของการตรวจรักษาบริเวณด้านหน้า การรักษาทำหัตถการอยู่ด้านหน้าซ้ายมือ มุมความรู้สุขภาพจะอยู่หน้าขวามือ และส่วนของและสังเกตอาการจะอยู่ด้านในขวามือ ในลักษณะกั้นไว้ครึ่งห้อง ทำให้การบริการมีการแยกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน สำหรับในส่วนห้องเก็บยาและเวชภัณฑ์จะอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคาร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการต่อเติมห้องคลังยา จากอำเภอทองผาภูมิ และได้รับการต่อเติมสะพานทางลาดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเดิมเคลื่อนย้ายรถเข็นและเปลผู้ป่วยลำบาก โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนกลุ่มริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรีและ ในส่วนของห้องน้ำจะอยู่บริเวณด้านในของอาคารทั้งชั้นล่างและชั้นบน และมีที่นั่งรอสำหรับผู้รับบริการบริเวณด้านหน้าอาคารและด้านล่างขงอาคารอย่างเหมาะสม

พิกัด : 14.820572, 98.407397