สมัครสมาชิก
เข้าระบบ
ค้นหา

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า


๑. ประวัติของโรงเรียน บ้านทิไล่ป้า หมู่ที่ ๕ ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงโป  เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตประเทศพม่า เรียกว่าหมู่บ้านทิวูซ่อง (ห้วยงูเห่า) แต่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพลของพม่า เดิมขึ้นการปกครองกับตำบลลังกา  เมืองสังขละบุรี ซึ่งมีพระศรีสุวรรณคีรี เป็นนายอำเภอ ต่อมายุบตำบลลังกา บ้านทิไล่ป้าจึงมาขึ้นกับตำบลไล่โว่ จนปัจจุบัน สำหรับคำว่า “ทิไล่ป้า” เป็นภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า “ห้วยแผ่นหิน ทิ = น้ำ หรือห้วย, ไล่ = หิน, ป้า =  แผ่น ) เมื่อย้ายมาอยู่ครั้งแรก มีประมาณ ๓๐ หลังคาเรือน  มีนายป่วยนุ้ง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบัน มี นายภากร เคียวเซ้ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน รวมแล้วตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านจนถึงปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้าน ๖ คน ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๓ ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ทำการสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น จำนวน ๒ หลังและเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกมี นักเรียนจำนวน ๔๒ คน เป็นชาย ๒๐ คน และเป็นหญิง ๒๒ คน มีครูทำการสอน ๓ นาย โดยเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบัน ร.ร.ตชด.บ้านทิไล่ป้ามีนักเรียนจำนวน ๑๘๙ คน เป็นชาย ๙๖ คน เป็นหญิง ๙๓ คน มีครูผู้สอน ๔ นาย ครูอัตราจ้าง ๑ คน ผู้ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ๒ คน และพนักงานประจำสุขศาลาพระราชทาน ๑ คนเปิดทำการเรียนการสอนชั้นปฐมวัย ถึง ประถม ๖ ครูใหญ่คนปัจจุบัน คือ พ.ต.ต.เอนก  คำภิมูล                     ๒. เขตบริการการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า บ้านทิไล่ป้า หมู่ที่ ๕ ตำบล ไล่โว่ ระยะทางจากหมู่บ้านถึงโรงเรียน ๑ กิโลเมตร จำนวนครัวเรือน ๑๐๕  ครัวเรือน ประชากร ๕๖๐ คน ชาย ๓๐๐ คน หญิง ๒๖๐ คน เชื้อชาติ (เผ่า) กระเหรี่ยงเชื้อสายโป นับถือศาสนา พุทธ และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือ ภาษากะเหรี่ยง ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายภากร  เคียวเซ้ง ผู้นำตามธรรมชาติ คือ นายปาซอง จำรัสไตรภพ และนายโจพู่รี่ ก้องขุนคีรี ๓. ลักษณะทั่วไปของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ลาดเอียงเชิงเขา สภาพป่าเป็นป่าทึบ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๖๓๐ เมตร  มีแม่น้ำแม่กะสะไหลผ่าน ฤดูร้อนอากาศร้อนจัด ฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น ฤดูฝนมีฝนตกชุก เป็นพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร     ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ย ๕,๐๐๐ – ๘,๐๐๐ บาท/ปี ๔. ด้านสาธารณูปโภค         ประชากรไม่มีไฟฟ้าใช้ บางหลังคาเรือนใช้ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์  น้ำ ใช้น้ำในลำห้วยและประปาภูเขา ๕. ด้านการบริการสาธารณสุข ๑) สาธารณสุขชุมชนบ้านจะแก อยู่ห่างจากบ้านทิไล่ป้า ประมาณ ๓๘ กิโลเมตร ๒) สุขศาลาพระราชทานและมาลาเรียคลินิก ร.ร.ตชด.บ้านทิไล่ป้า ๓) อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน     ๔) โรคที่ราษฎรเจ็บป่วยส่วนมาก คือ โรคทางเดินหายใจ,ระบบทางเดินอาหาร,หู ตา คอ จมูก,โรคระบบกล้ามเนื้อและโรคผิวหนัง ๖. การคมนาคม สามารถเดินทางโดยรถยนต์ จากศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านอำเภอทองผาภูมิ (ถนนสายกาญจนบุรี - ทองผาภูมิ) ถึง อำเภอสังขละบุรี เส้นทางลาดยาง ระยะทาง ๒๑๒ กิโลเมตร โดยก่อนถึงอำเภอ   สังขละบุรี ประมาณ ๖ กิโลเมตร จะถึงทางสามแยกเข้าบ้านสะเนพ่อง ซึ่งจากทางสามบ้านสะเนพ่องเดินทางเข้าถึงโรงเรียน จะเป็นเส้นทางทุรกันดาร ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร เส้นทางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้ง และต้องเดินทางโดยรถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อยกสูงเท่านั้น (เดินทางได้เฉพาะระหว่างเดือน ธันวาคม- พฤษภาคม ของทุกปี) สำหรับการเดินทางเข้าโรงเรียน ทางหน่วยป่าไม้จะเปิดให้เดินทางเข้าได้จึงสามารถเข้าไปได้และห้วงเดือน พฤศจิกายน ชาวบ้านจะเริ่มถางทางสำหรับเดินทางออกเนื่องจากหน้าฝนจะมีไม้ไผ่หักกีดขวางทาง  ชาวบ้านต้องตัดออกก่อนแล้วเริ่มเดินทางได้ในห้วงธันวาคม ของทุกปี ซึ่งรถที่จะเข้าต้องเป็นออฟโร้ดเท่านั้น แต่หน่วยป่าไม้จะอนุญาตเฉพาะล้อไม่เกิน ๓๓ นิ้ว มากกว่านั้นเขากำหนดไม่ให้นำเข้าเพราะถนนจะเกิดความเสียหายรถชาวบ้านจะไม่สามารถเดินทางได้ และรถทุกคันต้องมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับเดินทางในป่า  ๗. จำนวนครูและนักเรียน ปัจจุบันเปิดทำการสอนในระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ชั้นเด็กปฐมวัย ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖         มีนักเรียนชายจำนวน ๙๖ คน นักเรียนหญิงจำนวน ๙๓ คน รวมทั้งสิ้น ๑๘๙ คน ครูตำรวจตระเวนชายแดน ๕ นาย ครูผู้ดูแลเด็กเล็ก ๒ คน ครูปฐมวัย ๑ คน โดยมี พ.ต.ต.เอนก คำภิมูล ทำหน้าที่ครูใหญ่ และ มี ส.ต.อ.หญิงจารญา  ก้องขุนคีรี ทำหน้าที่ครูพยาบาล ๘. ห้องพยาบาลของโรงเรียน เป็นอาคารปูนชั้นเดียวขนาด ๖ x ๑๒ เมตร มีครูพยาบาลจำนวน ๑ นาย ผ่านการอบรมหลักสูตรพยาบาลสนาม และพนักงานประจำสุขศาลาฯ ๑ คน ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล

พิกัด : 15.368142, 98.582558